IJSO VS สอวน. ความแตกต่างของการสอบวัดความรู้ของคนสายวิทย์

IJSO VS สอวน. ความแตกต่างของการสอบวัดความรู้ของคนสายวิทย์

สำหรับเด็ก ๆ ที่เลือกเรียนสายวิทย์ และมีจุดมุ่งหมายที่อยากประสบความสำเร็จ เรื่องของการสอบแข่งขันเพื่อวัดทักษะ ประเมินความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ คืออีกปัจจัยอย่างหนึ่งที่จะบอกได้ ซึ่งปัจจุบันในเมืองไทยการสอบด้านวิทยาศาสตร์ที่ได้รับความนิยมมากสุดต้องยกให้กับการสอบ IJSO และการสอบ สอวน. หากใครยังมีข้อสงสัยว่าการสอบทั้ง 2 รูปแบบนี้แตกต่างกันอย่างไร เพื่อตัดสินใจเลือกได้อย่างเหมาะสมกับสิ่งที่ตนเองคาดหวัง บทความนี้จะอธิบายให้ละเอียดเลยครับ

การสอบ IJSO คืออะไร

การสอบ IJSO ย่อมาจาก International Junior Science Olympiad หมายถึง การแข่งขันวิทยาศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ มีการรวมรายวิชาเอาไว้ทั้งหมด 3 วิชา ได้แก่ ฟิสิกส์ เคมี และชีววิทยา สามารถสมัครได้ตั้งแต่ระดับ ม.1 – ม.3 ซึ่งผู้สมัครต้องมีอายุไม่เกิน 15 ปีบริบูรณ์ ตามปีการศึกษาที่สมัครสอบ อธิบายแบบเข้าใจง่ายขึ้นมันคือการสอบโอลิมปิกวิชาการของเด็กระดับ ม.ต้น นั่นเองครับ 

การสอบ สอวน. คืออะไร

การสอบ สอวน. หรือ POSN เป็นการสอบเพื่อหาเด็ก ๆ ไปเข้าค่ายเพื่อคัดตัวสู่การแข่งขันโอลิมปิกวิชาการซึ่งดำเนินการโดยสำนักงานส่งเสริมโอลิมปิกวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ แบ่งเป็น 7 สาขาวิชา ประกอบไปด้วย ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา คณิตศาสตร์ คอมพิวเตอร์ ดาราศาสตร์ และภูมิศาสตร์ ซึ่งผู้สอบจะถูกแบ่งตามรายวิชาที่กำหนดเอาไว้ ได้แก่ คณิตศาสตร์ ดาราศาสตร์ คอมพิวเตอร์ เปิดรับสมัครเฉพาะระดับ ม.1 – ม.5 ส่วนวิชาอื่น ๆ มีเงื่อนไขเพิ่มเติมคือต้องอายุไม่เกิน 19 ปี ในปีการศึกษาที่สมัครสอบ 

IJSO VS สอวน. เลือกสอบอะไรดี

หากถามว่าระหว่าง IJSO กับ สอวน. เลือกสอบอะไรดี คงให้คำตอบที่ชัดเจนไม่ได้นะครับ เพราะแต่ละประเภทการสอบ การเรียนเองก็มีจุดเด่นแตกต่างกันออกไป แต่ครูปีโป้จะขอบอกประโยชน์สำหรับเด็ก ๆ ทุกคนว่าเมื่อเลือกสอบอย่างใดอย่างหนึ่งก็ตามสิ่งที่ทุกคนได้รับกลับ มีดังนี้

1. เพิ่มทักษะ ความรู้ของตนเอง

การตัดสินใจสมัครทั้ง IJSO และ สอวน. เด็ก ๆ ทุกคนต้องติว และเรียนแบบเฉพาะทางให้หนักขึ้น ดังนั้นจึงเป็นการเพิ่มทักษะ และความรู้ให้เพิ่มพูนมากขึ้น เป็นประโยชน์ดี ๆ ที่ติดตัวไปไม่มีวันเสื่อมคลาย

2. โอกาสด้านการศึกษาต่อ

ทั้งการเข้าเรียนต่อกับมหาวิทยาลัยชั้นนำของเมืองไทย คณะที่ใฝ่ฝันโดยไม่จำเป็นต้องสอบ TCAS ไปจนถึงการเข้าเรียนต่อกับมหาวิทยาลัยระดับโลกที่มีความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ ซึ่งตรงนี้หมายถึงอนาคตของตัวเด็ก ๆ เอง

มากไปกว่านั้นเด็ก ๆ ทุกคนยังอาจได้พบตัวตน ความชอบในด้านวิทยาศาสตร์ หรือรายวิชาที่เลือกว่าสรุปแล้วนี่คือความฝันจริงหรือไม่ และถ้าหากคำตอบคือใช่ก็มุ่งมั่นทำอย่างเต็มศักยภาพของตนเองได้เลยครับ